แรงเสียดทานในธรรมชาติมีอยู่หลายชนิด เช่น แรงเสียดทานอากาศ หรือ แรงเสียดทานระหว่างผิววัตถุคู่ใดๆ เป็นต้น แต่ในระดับการศึกษาฟิสิกส์มัธยมฯ จะกล่าวถึง แรงเสียดทานระหว่างผิววัตถุคู่ใดๆ ดังนี้

      แรงเสียดทานระหว่างผิววัตถุคู่ใดๆ จะแบ่งการพิจารณาไว้ 2 ช่วง คือ 1. ช่วงที่วัตถุยังไม่เคลื่อนที่ จะพิจารณาเป็นแรงเสียดทานสถิต 2. ช่วงที่วัตถุเริ่มเคลื่อนที่เป็นต้นไป จะพิจารณาเป็นแรงเสียดทานจลน์

แรงเสียดทานสถิต (Static Friction)

      เป็นแรงที่ต้านการเคลื่อนที่ของวัตถุ โดยทิศทางตรงกันข้ามกับแรงพยายาม แต่แรงพยายามยังไม่มากพอที่จะเอาชนะแรงต้านนี้ได้ ทำให้วัตถุไม่เคลื่อนที่ เรียก แรงต้านนี้ว่า “แรงเสียดทานสถิต”

      สำหรับแรงเสียดทานสถิต มีสมการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

f_s = \mu{_s}N

      f_s คือ แรงเสียดทานสถิต

      \mu{_s} คือ ค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานสถิตระหว่างผิวของวัตถุขณะยังไม่เคลื่อนที่

      N คือ แรงปฏิกิริยาที่พื้นกระทำต่อวัตถุในแนวดิ่ง

แรงเสียดทานจลน์ (Kinetic Friction)

      เป็นแรงที่ต้านการเคลื่อนที่ของวัตถุเริ่มเคลื่อนที่ หรือขณะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วคงที่ โดยมีทิศทางตรงกันข้ามกับแรงพยายาม และแรงต้านมีค่าน้อยกว่า หรือเท่ากับแรงพยายาม เรียกแรงต้านนี้ว่า “แรงเสียดทานจลน์”

      สำหรับแรงเสียดทานสถิต มีสมการที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

f_k = \mu{_k}N

      f_k คือ แรงเสียดทานจลน์

      \mu{_k} คือ ค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานจลน์ระหว่างผิวของวัตถุขณะเริ่มเคลื่อนที่ หรือเคลื่อนที่ไปแล้ว

      N คือ แรงปฏิกิริยาที่พื้นกระทำต่อวัตถุในแนวดิ่ง

ข้อสังเกต

1. ขนาดของแรงเสียดทานจะมีค่ามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของมวลของวัตถุ และลักษณะพื้นผิวสัมผัส

2. สำหรับผิวคู่สัมผัสเดียวกัน \mu{_s} > \mu{_k} เสมอ